สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชกับ “ไก่เทาทองหางขาว”
เท่าที่จำความได้ฉันได้ยินได้ฟังเกี่ยวกับกีฬา “ไก่ชน” หรือ “ตีไก่” มาโดยตลอด ว่าเป็นการพนันชนิดหนึ่งที่ใช้ไก่สายพันธุ์ที่แข็งแรงมาสู้กันจนกว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะชนะหรือแพ้ ส่วนตัวแล้วฉันไม่เคยได้ชมการละเล่นไก่ชนมาก่อน แต่ก็พอรู้มาบ้างว่า การละเล่นไก่ชนนั้นเป็นสิ่งที่อยู่คู่บ้านคู่เมืองเรามาแสนนาน อีกทั้งยังเป็นสัตว์ที่มีประวัติผูกพันกับพระมหากษัตริย์ของไทยอีกด้วย
ประวัติศาสตร์การละเล่นที่ยังคงอยู่
ไก่ชนเป็นการละเล่นพื้นบ้าน หรือกีฬาพื้นบ้านที่เรียกได้ว่าเป็นมรดกของไทยที่คงอยู่มาช้านาน เท่าที่ฉันค้นข้อมูลและจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์พบว่ามีมาก่อนสมัยสุโขทัย เพราะมีการค้นพบภาพวาดจารึกบนแผ่นหินเกี่ยวกับการชนไก่ จึงกล่าวได้ว่า การละเล่นไก่ชนนั้นมีประวัติศาสตร์มายาวนานทั้งยังนิยมเล่นกันเรื่อยมาจนทุกวันนี้
ปัจจุบันคนส่วนมากมักมองการละเล่นไก่ชนแตกต่างกันไป ยกตัวอย่างคือหากเป็นนักกฎหมายจะมองว่าเป็นการพนัน (ซึ่งผิดกฎหมาย) หากเป็นนักอนุรักษ์จะมองว่าเป็นการทรมานสัตว์ หากเป็นนักสังคมวิทยาจะมองว่านี่คือวิถีของชุมชน ดังนั้นเพื่อจัดระเบียบการละเล่นไก่ชนของมนุษย์ไม่ให้เกินขอบเขตและคุ้มครองไก่ชนสายพันธุ์ต่าง ๆ ให้คงอยู่สืบไปในภายภาคหน้าจึงต้องมีกฎหมายควบคุมการละเล่นชนิดนี้เอาไว้
พระมหากษัตริย์ไทยกับไก่ชน
-ในสมัยกรุงสุโขทัย ไก่ชนประดู่หางดำพันธุ์แสมดำ มีชื่อว่า ไก่พ่อขุน เพราะว่าเป็นไก่ที่พ่อขุนรามคำแหงมหาราชทรงโปรด
-ในสมัยกรุงศรีอยุธยา ไก่ชนพันธุ์เหลืองหางขาว เป็นที่โด่งดังเพราะสมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงนำไก่ชนิดนี้มาจากบ้านกร่าง เมืองพิษณุโลกและนำไปชนกับไก่ของพระมหาอุปราชาแห่งกรุงหงสาวดีและได้รับชัยชนะ จึงทำให้ปัจจุบันไก่พันธุ์เหลืองหางขาวเป็นที่นิยมเลี้ยงเอาไว้เพื่อนำโชค มีชื่อเรียกว่า “ไก่เจ้าเลี้ยง”
-ในสมัยกรุงธนบุรี ไก่ชนพันธุ์เทาทองหางขาว เป็นไก่ชนที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงโปรดปราน
ถิ่นที่อยู่และแหล่งกำเนิดของไก่ชนสายพันธุ์เทา
ไก่เทา มีถิ่นที่อยู่แหล่งกำเนิดทั่วประเทศไทย แต่โดยส่วนมากมักพบที่จังหวัดตาก จังหวัดชลบุรี (อ.พนัสนิคม) จังหวัดเพชรบุรี (อ.บ้านแหลม) และในภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะพบที่จังหวัดขอนแก่น จังหวัดกาฬสินธุ์ จังหวัดนครราชศรีมา และจังหวัดอุบลราชธานี เป็นต้น
ไก่เทา เป็นไก่ขนาดกลาง โดยเพศผู้มีน้ำหนัก ๓ กิโลกรัมขึ้นไป และเพศเมียมีน้ำหนัก ๒ กิโลกรัมขึ้นไป เปลือกไข่ของไก่สายพันธุ์นี้มีสีขาวนวล ส่วนลูกไก่ จะมีลักษณะคือ ขนที่ลำตัวจะมีสีเทาอ่อน ขนที่หัว ที่อก และปีกจะมีสีขาวอมเหลือง รวมไปถึง ปาก แข้ง เล็บ และเดือยก็มีสีขาวอมเหลือง ดูคล้ายกับลูกไก่พันธุ์เหลืองหางขาว
ลักษณะของ “ไก่เทาทองหางขาว”
ไก่เทาทองสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชเป็นชื่อเรียกของคนบ้านปากพิง แท้จริงแล้วผู้ชื่นชอบไก่ชนทั่วไปเรียกว่า “ไก่เทาทองหางขาว” เป็นไก่ที่มีรูปร่างสวยสง่า ยืนหน้าอกเชิด ยกหัวยกปีก ลำคอยาวระหง ลำตัวกลมจับเป็นสองท่อน ใบหน้าสวยงามคมสันคล้ายนกเหยี่ยว ปากใหญ่งองุ้มและคมกริบ มีหงอนที่จัดอยู่ในจำพวกหงอนหิน หน้าหงอนจะบาง กลางหงอนจะสูง ส่วนปลายหงอนจะยาวเลยลูกตา จัดได้ว่าเป็นไก่ที่มีลักษณะดี
(ข้อมูลจากนายสัตวแพทย์นิสิต ตั้งตระการพงษ์ ณ วัดปากพิงตะวันตก : ถ่ายโดย เสาวลักษณ์ ภู่พงษ์)
ความเกี่ยวพันของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชกับไก่ชนเทาทอง
ทั้งนี้ฉันได้สืบค้นและทราบมาว่าเหตุที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงชื่นชอบไก่เทานั้นมีเรื่องราวที่ปรากฏเด่นชัดเมื่อปี พ.ศ.๒๓๑๘ คือ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงยกทัพหลวงมาตั้งค่ายที่บ้านปากพิงเพื่อช่วยเหลือเจ้าพระยาจักรีและเจ้าพระยาสุรสีห์ซึ่งทั้งสองถูกอะแซหวุ่นกี้ยกทัพปิดล้อมเมืองพิษณุโลก (สองแคว) เอาไว้
ชาวบ้านชุมชนปากพิงมีการเล่าสืบต่อกันมาหลายชั่วอายุว่า “ทหารที่ดูแลเรื่องเสบียงอาหารของกองทัพ สั่งห้ามฆ่าไก่สีเทา เป็นอาหาร ด้วยทราบมาว่าสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงโปรดปรานไก่สีเทาทองมาก” เพราะในสมัยอยุธยาตอนปลาย ขณะที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชยังเป็นเพียงเจ้าเมืองตากนั้น พระองค์ได้เข้าร่วมวงดูการท้าชนไก่ระหว่างไก่เขียวหางดำที่ชื่อว่า “พาลี” ของหลวงพิชัยอาสา (พระยาพิชัยดาบหัก) ซึ่งเป็นทหารคู่ใจกับไก่โทนเถ้าของหลวงเมืองตากหรือพระยาพระคลัง ไก่โทนเถ้าที่ว่านี้มีสีเทาทองหรือเทาเหลือง เป็นไก่ที่เก่งและมีชั้นมีเชิงดี ชนชนะไก่มาแล้วหลายตัวจึงเป็นที่เลื่องลือในเมืองตากจนไม่มีใครอยากมาชนด้วย
ก่อนหน้านี้หลวงเมืองตากเคยชนไก่กับหลวงพิชัยอาสา แต่ก็แพ้ให้กับไก่ของหลวงพิชัยอาสาทุกครั้ง และครั้งนี้หลวงเมืองตากได้ไก่โทนเถ้ามาจึงคิดแก้มือ โดยไปท้าหลวงพิชัยอาสาชนเดิมพันกัน คือไม่ต้องนำไก่มาเปรียบตัวกันก่อน แต่ให้คลุมโปงตีกันเลย ครั้นถึงวัน เมื่อทั้งสองปล่อยไก่ออกมา ไก่โทนเถ้าได้เปรียบไก่พาลีอยู่มากเพราะตัวใหญ่กว่า พอได้ทีก็ขี่ทับแล้วตีแสกหน้า ท้ายเสนียดและคอเชือด จนไก่พาลีร้องอย่างเจ็บปวด ถอยฉากออกมาได้ ไก่โทนเถ้าเป็นต่อไก่พาลีอยู่หลายขุม ทันใดนั้นเองไก่โทนเถ้าเกิดอาการชักและล้มลงแต่ก็ใจสู้ได้สติยืนหยัดขึ้นมา ซึ่งเป็นจังหวะเดียวกับที่ไก่พาลีเข้ามาตีซ้ำที่หลอดลมของไก่โทนเถ้าจนถึงแก่ความตาย คาดว่าหากไม่เกิดอุบัติเหตุนั้นเสียก่อนไก่โทนเถ้าก็จะชนะไก่พาลีได้อย่างเด็ดขาด
จึงถือได้ว่าไก่เทาทองของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชเป็นไก่มงคลและสวยงาม ที่ท่านพระราชทานให้บ้านปากพิง ทั้งยังชนเก่งเหมือนไก่เหลืองหางขาวของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ลักษณะมีความคล้ายกันทุกอย่างยกเว้นขนที่ลำตัวจะเป็นสีเทา ตามตำราไก่ชนบอกว่าไก่เทาทองนั้นเป็นไก่ลักษณะดี เลี้ยงแล้วเป็นมงคล ดังนั้น ถึงแม้ในอดีตบ้านปากพิงจะมีสายพันธุ์ไก่สีเทาที่ยังเหลือรอดชีวิตเลี้ยงอยู่ใต้ถุนบ้านของทุกครัวเรือน แต่ปัจจุบันมีเหลือให้เห็นน้อยมาก จนต้องมีการอนุรักษ์ไก่สายพันธุ์เทานี้เอาไว้เพื่อรำลึกถึงบุญคุณของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชและเหล่าบรรพบุรุษที่เคยปกป้องบ้านปากพิงเอาไว้จากพม่า
“เทาทองหางขาว”
ขนเทาแซมทองตกต้อง กายา
หางขาวเด่นเห็นจับตา ชวนคล้อย
อกผายเชิดเลิศภิรมย์ สมจิต แท้นา
องอาจดั่งนักรบกล้า ไก่ฟ้าราชาเอย
(โดย เสาวลักษณ์ ภู่พงษ์)
เสาวลักษณ์ ภู่พงษ์
นักศึกษาฝึกงานสาขาวิชาภาษาไทย คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์
มหาวิทยาลัยราชภัฎพิบูลสงคราม
๔ มกราคม ๒๕๖๐
ขอขอบคุณรูปภาพและข้อมูลจาก
//kaichonnaresuan.blogspot.com : ของนายสัตวแพทย์นิสิต ตั้งตระการพงษ์
//www.kaisiam.com
วัดปากพิงตะวันตก หมู่ ๒ ตำบลงิ้วงาม อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก
ความเห็นล่าสุด