ความประทับใจแรกพบ
“ภูลมโล” ดินแดนแห่งรอยยิ้ม ความสุข และมิตรภาพ
ในปัจจุบันนี้จะเห็นได้ว่ายุคสมัยหมุนเวียนเปลี่ยนผันไปอย่างรวดเร็ว ผู้คนต่างหันมาเดินทางท่องเที่ยวกันมากขึ้น บ้างก็ไปกับครอบครัว บ้างไปเป็นคู่ และบางคนก็ฉายเดี่ยวเดินทางคนเดียว จึงทำให้มีสถานที่ท่องเที่ยวใหม่ ๆ เกิดขึ้นมากมาย และล่าสุดเมื่อเร็ว ๆ นี้ได้มีการเปิดสถานที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่ที่กำลังมาแรงในฤดูหนาว นั่นก็คือ ภูลมโล ซึ่งจุดเด่นของภูลมโลจะมี ดอกนางพญาเสือโคร่ง หรืออีกชื่อหนึ่งคือ ซากุระเมืองไทย ที่มีสีชมพูบานสะพรั่งให้นักท่องเที่ยวได้ชมกว่าพันไร่ นอกจากนี้ภูลมโลยังได้ชื่อว่าเป็นแหล่งชมซากุระที่กำลังมาแรงและใหญ่ที่สุดในเมืองไทยอีกด้วย แต่ก็น่าเสียดายที่จะชื่นชมได้เพียงระยะเวลาสั้น ๆ เพราะดอกนางพญาเสือโคร่งนั้นจะบานแค่ในช่วงเวลาสามเดือน นั่นคือ ตั้งแต่เดือนธันวาคมถึงเดือนกุมภาพันธ์ หลังจากนั้นก็จะหมดฤดูกาล หากมาเที่ยวชมฤดูอื่นก็อาจจะมีบานให้เห็นบ้างประปรายแต่จะไม่บานสะพรั่งเช่นฤดูหนาวนั่นเอง
สถานที่ตั้งและเส้นทางการเดินทาง
ก่อนหน้านี้เมื่อทราบว่าต้องไปจัดกิจกรรมที่ภูลมโล ฉันลองศึกษาเส้นทางไปภูลมโลคร่าว ๆ ในอินเทอร์เน็ต ได้ความว่า ภูลมโล ตั้งอยู่ที่อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า มีอาณาบริเวณครอบคลุม ๓ จังหวัด คือ อำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลก ,อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย และอำเภอหล่มเก่า จังหวัดเพชรบูรณ์ การเดินทางนั้นสามารถไปได้สองเส้นทางคือ ๑)จากบ้านร่องกล้า ที่อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า จะถึงภูลมโลในระยะทางประมาณ ๘ กิโลเมตร และ ๒)จากบ้านกกสะทอน อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย มาถึงภูลมโลใช้ระยะทางประมาณ ๒๐ กิโลเมตร
ในความคิดของฉัน บุคคลที่ได้ท่องเที่ยวอยู่เสมอจะต้องเป็นบุคคลที่มีความสุขและโชคดีอย่างมากเพราะการท่องเที่ยวเปรียบเสมือนการชำระล้างจิตใจและทำให้ใจสงบขึ้น ตัวฉันเองก็เป็นอีกคนหนึ่งที่มีความฝันว่าอยากไปท่องเที่ยวท่ามกลางธรรมชาติที่งดงามและโรแมนติกเช่นนี้บ้าง และแล้วก็ถึงวันของฉัน เพราะเมื่อวันที่ ๒๓-๒๔ มกราคม ๒๕๖๐ ที่ผ่านมา ทางสถานอารยธรรมศึกษาโขง-สาละวิน ได้เดินทางออกนอกสถานที่เพื่อไปร่วมจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยว “วันเดียวเที่ยว ๔ ภู” ได้แก่ ภูหินร่องกล้า ภูแผงม้า ภูทับเบิก และภูลมโล ณ ลานกลางเตนท์ อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า อำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลก ภายในงานมีนักท่องเที่ยวที่มาร่วมงานมากมาย รวมถึงสื่อต่าง ๆ ที่มาร่วมทำข่าว มีสิ่งหนึ่งที่มีความน่าสนใจและสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวในเวลานั้นก็คือ ซุ้มมันอร่อยและชาสีชมพู ของสถานอารยธรรมศึกษาโขง-สาละวินนั่นเอง จากที่ฉันได้ลองชิมแล้วนั้นก็อยากบอกให้ทุกท่านทราบว่า ชาสีชมพู รสชาติกลมกล่อมจริง ๆ สมคำร่ำลือ เสน่ห์ของชาชนิดนี้ก็คือ มีสีชมพูหวานดั่งดอกซากุระ เมื่อรับประทานร่วมกับมันญี่ปุ่นที่แสนอร่อย บวกกับชื่นชมดื่มด่ำไปกับธรรมชาติรอบตัวก็จะทำให้เกิดความสุขเอ่อล้นขึ้นมาทั่วทั้งใจ มีอารมณ์สดใสคงที่ปราศจากเรื่องมัวหมองใจโดยสิ้นเชิง สำหรับฉันชาสีชมพูไม่ใช่ชาวิเศษ แต่เป็นชาที่พิเศษกว่าชาอื่น ๆ เพราะแค่มีสีชมพู….ก็ชวนให้อยากลิ้มลองแล้ว
นี่เป็นครั้งแรกที่ฉันได้มีโอกาสไปสัมผัสกับบรรยากาศท่ามกลางธรรมชาติที่รายล้อมไปด้วยลมหนาวและดาวเดือน ณ อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้าและภูลมโล ปกติแล้วฉันไม่ค่อยได้เดินทางท่องเที่ยวบ่อยนักและถึงแม้ว่าจะท่องเที่ยวก็ไม่ค่อยได้ไปตามป่าตามเขา ส่วนใหญ่จะเป็นการเที่ยวตามท้องทะเลต่าง ๆ มากกว่า ซึ่งการไปครั้งนี้แม้ว่าเหตุผลหลัก ๆ จะไปเพราะทำงาน แต่การทำงานครั้งนี้เปรียบเสมือนการพักผ่อนไปในตัวด้วย พี่ ๆ และเพื่อน ๆ ทุกคนน่ารักกันมากแต่ละคนก็ช่วยกันคนละไม้คนละมือจัดสถานที่และซุ้มเพื่อให้นักท่องเที่ยวได้ชื่นชมและรู้จักชาสีชมพูของพวกเรา
เมื่อเริ่มดึก อากาศเริ่มเย็นขึ้นทุกขณะ ทุกคนก็ต่างแยกย้ายกันกลับที่พักเพราะต่างคนก็เหนื่อยกันมาพอสมควรแล้ว พวกพี่ ๆ แยกกันกลับที่พักไปก่อน แต่พวกเพื่อน ๆ อีกสิบสองคนอยากที่จะมานั่งล้อมวงผิงไฟและพูดคุยกัน ดังนั้นฉันจึงเลือกอยู่กับเพื่อน ๆ เพราะจะได้กระชับความสัมพันธ์ให้สนิทสนมมากยิ่งขึ้น ซึ่งหากจะให้พูดตรง ๆ ก็คือในครั้งแรกที่ได้พบเพื่อน ๆ ฉันมีความคิดว่า “พวกเขาจะหยิ่งหรือเปล่า?” “พวกเขาจะเปิดปากคุยกับฉันไหม?” ผลปรากฏว่า พวกเขาน่ารักกันทุกคนแต่ละคนสดใสและร่าเริงมาก มีการพูดเรื่องตลกขบขันอยู่เสมอ นี่คืออีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้ฉันประทับใจ อบอุ่นใจและอิ่มเอมใจ ต่อให้อากาศหนาวจนตัวเริ่มสั่น แต่การได้อยู่ท่ามกลางเพื่อน ๆ ที่น่ารักและอบอุ่น ฉันก็สามารถทนกับความหนาวนั้นได้ แม้เพียงไม่นานก็ตาม รู้สึกว่าการเดินทางครั้งนี้ช่างเป็นความทรงจำที่มีคุณค่าและมีความหมายสำหรับฉันมาก สัญญากับตัวเองว่าจะจดจำตลอดไป ว่าครั้งหนึ่ง…ฉันเคยมาที่นี่ ได้พบกับมิตรภาพที่ดี เคยมีความสุขมากขนาดไหน รวมถึงเสียงหัวเราะที่เกิดขึ้นตลอดการเดินทางด้วย
เช้าวันต่อมา เป็นวันที่จะต้องขึ้นไปยังภูลมโลเพื่อชมดอกนางพญาเสือโคร่งที่ร่ำลือ ทุกคนต่างตื่นมารับประทานอาหารกันตั้งแต่แปดโมงเช้าและทำธุระส่วนตัวให้เรียบร้อย เสียงเจี๊ยวจ๊าวในร้านอาหารทำให้ฉันรู้สึกตื่นเต้น (แม้ว่าความจริงแล้วฉันจะง่วงมากก็ตาม) ทุกคนพูดคุยกันอย่างออกรสถึงสถานที่ที่เรากำลังจะไป ฉันได้ยินได้ฟังมาค่อนข้างบ่อยเกี่ยวกับภูลมโล แต่ไม่เคยได้ไปเยือนสถานที่จริงเสียที ในวันนั้นจึงเป็นวันที่ฉันตื่นเต้นที่สุดเพราะอีกไม่กี่ชั่วโมงฉันก็จะได้ไปเก็บบรรยากาศที่อบอวลไปด้วยความโรแมนติกแล้ว
ในวันนั้นฉันต้องถือกล้องคอยถ่ายรูปอยู่ตลอดเวลาจึงขอถ่ายป้ายภูลมโลเอาไว้ก่อนเพื่อเก็บความทรงจำ พอกินข้าวและทำธุระส่วนตัวกันเรียบร้อย พวกเราชาวโขงสาละวินก็เดินทางจากอุทยานภูหินร่องกล้าขึ้นไปยังภูลมโล ใช้ระยะทางประมาณ ๘ กิโลเมตร โดยมีรถกระบะที่ทางศูนย์บริการนักท่องเที่ยวบ้านร่องกล้าเตรียมไว้ให้เพื่อความสะดวกเพราะคนขับรถเป็นคนในพื้นที่และจะคอยขับพาเราไปเที่ยวชมดอกนางพญาเสือโคร่งในที่ต่าง ๆ กัน เส้นทางที่ไปก็จะเป็นทางลูกรังมีแต่ฝุ่นและดิน แอบเห็นใจเพื่อน ๆ ที่นั่งหลังกระบะเพราะโดนฝุ่นเข้าไปเต็ม ๆ ส่วนตัวฉันนั่งข้างคนขับเพราะต้องถือกล้องถ่ายรูปซึ่งหากนั่งกระบะหลังก็กลัวว่าฝุ่นจะเข้ากล้องทำให้เสียหายได้ จึงไม่อยากเสี่ยง
เมื่อมาถึงแปลงดอกนางพญาเสือโคร่งแปลงแรก สิ่งที่ฉันทำคือ ถ่ายรูปเอาไว้ให้ได้มากที่สุด แต่เมื่อได้อย่างหนึ่งก็จะเสียอีกอย่างหนึ่งนั่นคือ หากฉันมัวแต่ถ่ายรูป ฉันจะไม่มีโอกาสได้สัมผัสธรรมชาติที่แสนงดงามนี้ ฉันจึงเลือกทางที่พอดี ไม่มากและไม่น้อยเกินไป เดินชมซากุระบ้าง ถ่ายรูปบ้าง เลือกถ่ายแต่จังหวะที่สวยงามจริง ๆ และสิ่งที่ได้รับก็คือ ฉันมีความสุขเหลือเกิน ที่ได้มาที่นี่ สถานที่นี้สร้างความสุข และคลายความทุกข์ให้ผู้คนได้ หากมีโอกาสฉันจะกลับมาอีกแน่นอน
ฉันขอขอบคุณ ผศ.ดร.วศิน ปัญญาวุธตระกูล ผู้อำนวยการสถานอารยธรรมศึกษาโขง-สาละวิน รวมถึงพี่ ๆ ทุกคนที่พาฉันติดสอยห้อยตามไปทำงานและเปิดหูเปิดตาในครั้งนี้ ขอบคุณพี่เจี๊ยบที่คอยถามตลอดว่าการเดินทางเป็นอย่างไรบ้าง แม้ว่าพี่เจี๊ยบจะติดธุระไม่ได้มาด้วยก็ตาม อยากขอบคุณเพื่อน ๆ ที่คอยคุยเรื่องสนุกสนานอยู่เสมอ สร้างเสียงหัวเราะได้มากจริง ๆ ขอบคุณมากค่ะ การทำงานบวกกับเที่ยวในครั้งนี้เปรียบเสมือนรักแรกพบสำหรับฉัน เป็นทริปที่สร้างความสุข ความอบอุ่นและการพบมิตรภาพดี ๆ ยากต่อการลืมเลือน
เสาวลักษณ์ ภู่พงษ์
นักศึกษาฝึกงานสาขาวิชาภาษาไทย คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์
มหาวิทยาลัยราชภัฎพิบูลสงคราม
๒๗ มกราคม ๒๕๖๐
ความเห็นล่าสุด